ภาพเก่า จากหนังสือที่ระลึก งานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน พ.ศ.๒๕๒๕


ถาวรวัตถุและของพระราชทาน

    – ทางหน้าวัดด้านริมคลองบางกอกใหญ่ มีศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง ติดกับเขื่อนหน้าวัด เป็นแบบทรงไทยประดับ ช่อฟ้า ใบระกา ต่อจากเขื่อนเข้ามาเป็นศาลาการเปรียญ ขนาดใหญ่ใต้ถุนสูง พื้นล่างเทคอนกรีต ไม่มีฝากั้น ชั้น บนมีฝากั้น เป็นของสร้างขึ้นใหม่ เดิมศาลาการเปรียญ ของเก่าก็อยู่บริเวณนี้แต่เหนือขึ้นไปใกล้ๆ กับหอระฆัง หน้าบันทำเป็นรูปสังข์อยู่บนพาน ประดับลวดลายติดกระจก

    – หอระฆัง เป็นของเก่าสร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ รูป ๔ เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น สูงประมาณ ๗ เมตร

    – ร.ร.แสงมณี เป็นตึกชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน อยู่ริมถนนตัดจากหน้าวัดไปพระวิหาร – ตรงข้ามกับคณะ ๔ เดิมสร้างเพื่อตั้งศพนางฉัตร อาชวานนท์ ปัจจุบันทาง วัดมอบให้เอกชนตั้งเป็น ร.ร. สอนเด็กชาย – หญิง ตั้งแต่ ป. ๑ ถึง ป. ๔

    – ร.ร.วัดสังข์กระจาย (แจ่ม วิชาสอน) สังกัดแผนก มัธยม กองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตัวโรงเรียนเป็นไม้สักทั้ง ๒ ชั้น มี ๒ หลัง อยู่ทางหน้าวัดด้านใต้ เดิมเป็นบ้านของหลวงแจ่มวิชา สอน กับภรรยา ถวายให้เป็นสมบัติของวัดพร้อมทั้งที่ดิน

    – ส่วนของพระราชทานนั้น มีธรรมาสน์ พระไตรปิฎก พร้อมด้วยหนังสือพระไตรปิฎก และพระบรมรูปหล่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตรอีกหนึ่งพระรูป

ปูชนียวัตถุของวัด

 

๑. พระอุโบสถ

เป็นพระอุโบสถขนาดย่อม มีระเบียง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้อง ดินเผา ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีรูปเทพสลักไม้ นั่งบนดอกบัว ล้อมด้วยลายก้านขดปิดทอง ซุ้มประตู และซุ้มหน้าต่างเป็นปูนปั้นแบบหน้าบันประดับกระจก ปิดทอง มีเครื่องดินเผาปน ปัจจุบัน ทองที่บานประตู และบานหน้าต่างด้านนอกถูกคนร้ายเอากรดเช็ดสำรอก ทองไปหมดแล้ว ยังเห็นเงาของเดิมลายที่เขียนไว้เป็นลายเถาดอกเบญจมาศ

ในพระอุโบสถตอนที่เป็นบาน ประตูและบานหน้าต่าง มีภาพเขียนสีรูปเทวดายืนประ นมมือบนแท่น มีพญาวานรแบกภาพเขียนสีที่ผนังทั้ง ๔ ด้าน กล่าวกันว่าเป็นช่างเขียนสมัยรัชกาลที่ ๑ ตรงหุ้ม กลองด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติตอน มารผจญ และหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน เป็นภาพตอนเปิดโลก ผนังด้านขวาเป็นภาพเวสสันดรชาดก ด้านซ้ายเป็นภาพพุทธประวัติ ชั้นบนของผนังทั้งสองด้าน เป็นภาพเทพชุมนุม ภาพดังกล่าวมานี้ส่วนมากชำรุดลบเลือน


๒. พระประธาน

พระประธานประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็น พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตัก กว้างประมาณ ๔ ศอก บนชุกชีหน้าพระประธานมี พระอัครสาวกทั้งขวาและซ้าย คือพระสารีบุตรกับ พระโมคคัลลานะ ปูนปั้นลงรักปิดทองเช่นเดียวกัน นั่งหันหน้าเข้าหาพระประธาน


๓. ใบเสมา

ใบเสมาเป็นเสมาคู่ หินสีเขียว อยู่ในซุ้มทำเป็น รูปคล้ายกูบช้าง มี ๒ มุข ยอดเกี้ยว สูงประมาณ ๒ เมตร มีรวมด้วยกันทั้งหมด ๘ ซุ้ม


๔. กำแพงแก้ว

กำแพงแก้วเป็นกำแพงเตี้ยๆ และมีประตูเข้า ออก ๔ ด้าน ซุ้มประตูเป็นแบบรัชกาลที่ ๓ ตรงประตู ด้านหน้าพระอุโบสถนอกกำแพงแก้วมีตุ๊กตา หินสีเขียว เป็นรูปหมูข้างละตัว ภายในกำแพงแก้วมีตุ๊กตาหินชนิด เดียวกันอยู่หลังประตูด้านหน้าพระอุโบสถข้างละตัว ที่เชิงบันไดหน้าพระอุโบสถมีตุ๊กตาจีนข้างละ ๒ ตัว และที่เชิงบันไดหลังพระอุโบสถอีกข้างละตัว มุมกำแพงแก้วด้านในหลังพระอุโบสถมีเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้สิบสองมุมละองค์ เป็นเจดีย์ขนาดย่อม


๕. พระวิหารหลวงพ่อกัจจายน์

พระวิหารอยู่หลังวัด ติดกับถนนสายที่ตัดไปออกถนนเพชรเกษม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ แต่เป็นกำแพงสร้างเสริมให้สูงขึ้นกว่าเดิม ทางด้านในเจาะเป็นช่องๆ สำหรับบรรจุอัฐิ หน้าพระ วิหารมีเจดีย์ขนาดย่อมอยู่ ๓ องค์ เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้ สิบสองด้านขวามีเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบใหญ่กว่าเจดีย์ด้าน หน้าประดิษฐานอยู่อีกองค์หนึ่ง ความจริง ยังมีเจดีย์ แบบลังกาอีกองค์หนึ่งอยู่ตรงหน้าประตูเข้าพระวิหารพอ ดี ทางวัดเกรงว่าจะบังหน้าพระในวิหารทําให้หมดความ สง่างาม จึงรื้อเสีย ยังเห็นรอยฐานของเจดีย์ปรากฏอยู่ด้านหลังพระวิหาร มีที่บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาสเป็น รูปโกศ รวม ๕ โกศ ตั้งอยู่บนแท่นเดียวกันก่อด้วยอิฐถือปูน

ตัวพระวิหารเป็นรูปวิหารแกลบแบบเก่า หลังคาชั้นบนมุงกระเบื้องดินเผา ชั้นล่างเป็นสังกะสี บนชุกชี ภายในพระวิหาร มีพระพุทธรูปทั้งยืนและนั่งรวมด้วยกัน ๒๔ องค์ คือ พระนั่งปางมารวิชัย ๑๕ องค์ ปางสมาธิ องค์ ๑ พระยืน ๘ องค์ เป็นปางห้ามญาติ ๓ องค์ ปางห้ามสมุทร ๕ องค์ หน้าชุกชีประดิษฐานพระ กัจจายน์จำลองหน้าตักกว้างประมาณ ๒ ศอกไว้บนแท่น มีโต๊ะหมู่บูชาอยู่ข้างหน้า

พระวิหารดังกล่าวนี้ เริ่มเข้าใจว่าเป็นพระอุโบสถ และภายในกำแพงแก้วด้านซ้ายมือหน้าพระวิหารก็เคยมี พระวิหารแบบนี้ แต่เรียกกันว่า กุฏิวิปัสสนานายสังข์ ปัจจุบันรื้อแล้วเพราะเก่าแก่ทรุดโทรมมาก และยังมีที่บรรจุอัฐิของบุคคลอื่นๆ ทางด้านขวาหน้าพระวิหารอีกเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อกัจจายน์องค์ที่ขุดได้ เมื่อคราวสร้างวัดดัง ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันทางวัดได้เก็บรักษาไว้ หน้าตัก กว้าง ๑๐ นิ้ว เดิมประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางวัดมีงานฉลองพระอุโบสถ ได้นิมนต์ หลวงพ่อกัจจายน์มาไว้ในพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนสักการบูชา ครั้นงานเลิกแล้วได้มีคนร้ายตัดสายยูกุญแจพระอุโบสถขาดขโมยเอาหลวงพ่อกัจจายน์ไป และนับเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ติดตามกลับคืนมาได้ จึงไม่นำไปเก็บยังที่เดิม เพราะเกรงว่าจะเกิดหายอีก และได้จัดการหล่อองค์จําลองขึ้นใหม่ประดิษฐานแทนไว้ในพระวิหาร ดังกล่าวมา