งานหล่อหลวงพ่อพระสังข์กัจจายน์จำลอง วัดสังข์กระจายวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

งานหล่อหลวงพ่อพระสังข์กัจจายน์จำลอง
วัดสังข์กระจายวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
                เริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๙๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. นายช่างเริ่มทำการสุมทองพระสงฆ์ทรงวิทยาคุณซึ่งทางวัดได้อาราธนามาเป็นผู้เจริญจิตภาวนาในพิธีนี้ ก็ได้เริ่มบริกรรมและสวดมนต์พุทธาภิเษกกันเรื่อยไปตลอดคืน จนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง พระสงฆ์ที่อาราธนามาในพิธีนี้มี

  1. ท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพยมุนี วัดทองนพคุณ ธนบุรี
  2. ท่านเจ้าคุณพระราชโมลี วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี
  3. ท่านพระครูโฆสิตธรรมสาร (หลวงพ่อครื้น) วัดสังโฆฯ สุพรรณบุรี
  4. ท่านพระครูพรหมญาณวินิต วัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี
  5. ท่านพระครูญาณสิทธิ วัดราชสิทธาราม ธนบุรี
  6. ท่านพระครูวิริยกิตติ (พระครูโต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี ธนบุรี
  7. ท่านพระครูโสภณกัลยา (หลวงพ่อเส่ง) วัดกัลยานิมิตร ธนบุรี
  8. หลวงพ่อเคน วัดเขาอีโต้ ปราจีนบุรี
  9. พระปลัดทุ่ง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี
  10. หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี
  11. พระอาจารย์ทองคำ กาญจนบุรี
  12. พระอาจารย์บุญมา วัดราชสิทธาราม ธนบุรี

พระอาจารย์ที่ออกนามมาข้างบนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ทรงศีลมีอำนาจจิตตานุภาพสูง เชี่ยวชาญในศาสตร์ไสยเวทย์ต่าง ๆ อนึ่งทางวัดได้แจกชนวนทองไปตามพระคณาจารย์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้นำมาหลอมเททองพร้อมกันในพิธีนี้อีกด้วย ช่างทำการสุมหุ่นและสุมทอง โดยมีพระสงฆ์เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด จวบกระทั่งได้อรุณอาทิตย์อุทัยทอแสงเรือง ๆ ขึ้นเบิกฟ้า เวลา ๐๖.๐๐ น. เป็นอุดมฤกษ์มหาชัย นายช่างก็จัดการให้เททองเบ้าแรก น้ำทองถูกเทไหลลงเบ้าคว้าง ๆ เบ้าแล้วเบ้าเล่า เสียงสังข์และฆ้องชัยก็ลั่นเป็นสัญญาณไชยมงคล มหาชนที่ล้อมอยู่รอบนอกวงพิธีรายเรียงกันเปล่งเสียงให้ร้องไชโยกันขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน
บัดดลนั้น มหานิมิตก็พลันมีแก่องค์พระคณาจารย์ ผู้นั่งปรกคุมฤกษ์ให้บังเกิดแลเห็นลำเทียนชัยในพิธีสุกไสวสว่างโชติช่วงขึ้นทั่วต้น เปล่งรัศมีสีเขียวนวลปานสีมรกต เบื้องอุดรทิศ (ทิศเหนือ) ก็ปรากฏเป็นนางฟ้าเทพธิดา แต่งตัวกันหลากสีเหยียบเมฆ ต่างนำเอาทองกันมาใส่ลงในเบ้าเป็นทิวแถว เป็นที่มหัศจรรย์ องค์นั่งปรกบริกรรมคุมฤกษ์องค์นี้ คือ ท่านพระครูวิริยกิตติ (พระครูโต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี หลังจากพิธีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่านได้เล่านิมิตนี้ให้ผู้ใหญ่ฟังและทำนายว่า รูปหล่อหลวงพ่อพระกัจจายน์จำลององค์นี้จะบริบูรณ์ ไม่แหว่งเว้าเสียหาย และนานไปในอนาคตจะเป็นปูชะนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ มีกฤษฎาภิหารย์เป็นที่เคารพบูชาอันสำคัญองค์หนึ่งของประชาชน
หลวงพ่อพระกัจจายน์จำลอง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านเหนือพระอุโบสถ เปิดให้ประชาชนเข้านมัสการและปิดทองได้ทุกวัน

ตำนานความเป็นมา
                พระมหากัจจายนะ หรือพระสังกัจจายนเถระ ที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า “พระสังกัจจายน์” ด้วยรูปลักษณ์อ้วนอวบ อุทรพลุ้ย แต่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ พระคณาจารย์นิยมสร้างรูปเหมือนของท่านขึ้นมาเพื่อให้สาธุชนนำไปสักการบูชา ปรากฏอิทธิคุณทางโภคทรัพย์ เรียกโชคลาภ เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม และอุดมด้วยสติปัญญา
                พระสังกัจจายน์องค์ใหญ่มีการสร้างประดิษฐานตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่วนพระเครื่อง พระบูชานั้นมีการสร้างออกมามากมาย หลายยุคหลายสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ ฯลฯ
                พระสังกัจจายน์ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เดิมมีชื่อว่า “กัญจนะ” เพราะมีรูปลักษณ์งามสง่า ผิวเหลืองดุจทองคำ เป็นที่ต้องตาถูกใจแก่ผู้พบเห็น เมื่อเจริญวัยขึ้นได้เรียนจบคัมภีร์ไตรเพท ครั้นบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ได้เป็นปุโรหิตสืบทอดจากบิดาในรัชสมัยของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์
                พระสังกัจจายน์เป็นพระสาวกที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถอธิบายธรรมที่ย่อให้พิสดาร (ละเอียด) ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้ไม่ยาก ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ ประการ คือ

  1. อัตถปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถ สามารถอธิบายความย่อให้พิสดารได้
  2. ธัมมาปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถถือเอาความโดยย่อจากธรรมที่พิสดารได้
  3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ มีความเชี่ยวชาญในภาษา สามารถพูดให้คนอื่นเลื่อมใสได้
  4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบและปฏิภาณ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้

พระสังกัจจานย์ออกบวช
                ในสมัยพุทธกาลนั้น วันหนึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชตสดับข่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ได้ประกาศพระธรรมวินัยสั่งสอนมหาชน ธรรมที่แสดงนั้นเป็นธรรมอันแท้จริง เกิดผลสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติตาม มีพระราชประสงค์ใคร่เชิญเสด็จมาประกาศธรรมที่กรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งให้กัจจายนะปุโรหิตไปเชิญเสด็จ โดยกัจจายนะปุโรหิตก็ทูลลาบวชด้วย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมบริวาร ๗ คน มาถึงที่ประทับของพระศาสดา เข้าเฝ้าฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๘ คน
                พระสังกัจจายนเถระนั้นเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความพระธรรมที่ย่อให้พิสดาร ได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาว่า เป็นเยี่ยมกว่าพระสาวกรูปอื่นในทางนั้น โดยพระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า “ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าท่านถามความนี้กับเรา แม้เราก็คงแก้เหมือนกัจจายนะแก้ แล้วอย่างนั้น ความของธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น อย่างนั้นแล ท่านทั้งปวงจงจำไว้เถิด พระกัจจายนะเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายคำที่ย่อให้กว้างขวาง”
               
ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์
                ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อ แล้วเสด็จเข้าสู่พระวิหารที่ประทับ  พระภิกษุทั้งหลายไม่มีโอกาสกราบทูลถามเนื้อความที่ตรัสไว้โดยย่อให้เข้าใจได้ จึงพากันเข้าไปหาพระสังกัจจายน์ กราบอาราธนาให้ท่านได้เมตตาอธิบายความให้ฟัง พระเถระได้อธิบายขยายความย่อให้ฟังอย่างพิสดารแล้วกล่าวแนะนำว่า “ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายแห่งพระสูตรนี้ ตามที่อธิบายมานี้ แต่ท่านทั้งหลายมีความต้องการจะทราบให้แน่ชัดก็จงไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาพ เมื่อพระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้นเถิด”
                ภิกษุเหล่านั้นพากันลาพระเถระแล้วเข้าไปกราบทูลเนื้อความที่พระสังกัจจายน์อธิบายไว้ให้พระพุทธองค์ทรงสดับ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญพระเถระว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจายนะ เป็นผู้มีปัญญา เนื้อความนั้นถ้าพวกเธอถามตถาคต แม้ตถาคตก็จะอธิบายอย่างนั้นเช่นกัน ขอพวกเธอจงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด”
                เมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงตั้งพระสังกัจจายน์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่ายผูอธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร พระสังข์กัจจายน์ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพาน
                มีพระธรรมเทศนาของท่านหลายกัณฑ์ ที่พระธรรมสังคายนาจารย์ได้ยกขึ้นสู่การทำสังคายนา ได้แก่

  1. ภัทเทกรัตตสูตร เป็นสูตรที่แสดงถึงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือคนที่เวลาวันคืนหนึ่ง ๆ มีแต่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคิดถึงอดีต ไม่เพ้อฝันหวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยไป มีความเพียรพยายามทำกิจที่ควรทำตั้งแต่วันนี้
  2. มธุรสูตร เป็นสูตรที่ท่านแสดงแก่พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่คุณธาวัน มธุรราชธานี สูตรนี้มีใจความแสดงถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร วรรณะทั้ง ๔ แม้จะถือตัว เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องรับโทษไปอบายเหมือนกันทั้งหมด ทุกวรรณะจึงเสมอกัน

ในพระธรรมวินัย เมื่อได้ออกบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่าวรรณะอะไร แต่เป็นสมณะเหมือนกันหมด ที่พระเถระกล่าวสูตรนี้ ก็เพราะพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรถามปัญหากับท่านเกี่ยวกับเรื่องพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเกิดจากพรหม ท่านจึงแก้ว่า ไม่เป็นความจริง แล้วยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ ดังนี้
๑) ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นผู้ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง วรรณะเดียวกันและวรรณะอื่น ย่อมเข้าไปหา ยอมเป็นบริวารของวรรณะนั้น
๒) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบท เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอเหมือนกันหมด
๓) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบท เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหมด
๔) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น
๕) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ การบำรุงและการคุ้มครองรักษา เสมอเหมือนกันหมด
เมื่อพระเถระแสดงเทศนามธุรสูตรจบแล้ว พระเจ้ามธุรราชก็บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

เพราะเหตุใดพระสังกัจจายน์จึงมีรูปลักษณ์ที่อวบอ้วนสมบูรณ์
                สิ่งพิเศษของพระสังกัจจายน์อีกประการหนึ่ง คือ เป็นผู้มีรูปงาม ผิวเหลืองดุจทองคำ มีส่วนแห่งความงดงามคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า คือ นอกจากพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากแล้ว ก็มีพระกัจจายนเถระอีกองค์หนึ่ง แต่ที่เราเห็นสรีระรูปผิดจากความเข้าใจเดิมเป็นอ้วนล่ำพุงพลุ้ยนั้น เนื่องด้วยรูปสมบัติเดิมของท่านที่ละม้ายคล้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า
                วันหนึ่ง พระสังกัจจายน์เข้าไปบิณฑบาตในเมือง มีเศรษฐีชาวเมืองโสเรยยะ เห็นท่านแล้วนึกด้วยความคะนองว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปร่างผิวพรรณสวยงามอย่างพระรูปนี้จะดีนักหนา ด้วยอำนาจแห่งบาปกรรมนั้นโสเรยยะจึงกลับกลายเป็นสตรีเพศ ได้รับความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง จึงออกจากเมืองนั้นไปอยู่ที่อื่น และมีสามีและมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง ต่อมาพระสังกัจจายนเถระได้จาริกมายังอีกเมืองหนี่ง โสเรยยะได้รู้ข่าวจากเพื่อนสนิทคนหนึ่งว่า พระเถระเจ้ามายังเมืองนี้จึงถือโอกาสไปกราบนมัสการขอขมาโทษ เมื่อได้รับทราบแล้ว เพศของโสเรยยะก็กลับเป็นบุรุษเพศดังเดิม
                นอกจากจะมีเรื่องของโสเรยยะแล้ว ยังมีเรื่องของพระภิกษุ เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเห็นพระเถระเดินมาแต่ไกล แล้วพากันกล่าวว่า “พระบรมศาสดาของพวกเราเสด็จมาแล้ว” แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายคลึงกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
                เมื่อท่านพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้วจึงอธิฐานจิตเนรมิตร่างกายของตนให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นอวบอ้วนอุทรป่องแลดูไม่งามเหมือนดังเดิม เป็นรูปลักษณ์ที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปเคารพของท่านไว้สักการบูชา ยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ยิ่งนิยมสร้างกันมาก สังเกตได้จากพระสังกัจจายน์จีวรลายดอกที่แลดูสวยงามอลังการ บ่งบอกถึงศรัทธาอันล้นพ้นต่อพระอรหันต์ผู้เปี่ยมด้วยโชคลาภมหานิยมและสติปัญญาองค์นี้

พระอรหันต์ผู้บันดาลโชคลาภ
เมตตามหานิยมและสติปัญญา
                ชาวพุทธกราบไหว้บูชาพระสังกัจจายน์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ๓ ประการแก่ตนเองและครอบครัว ดังนี้
                ๑. โชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ พระสังกัจจายน์ได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็นพระผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์และลาภสักการะรองลงมาจากพระสีวลี ตามลักษณะพระวรกายของท่านที่อวบอ้วนอุดมสมบูรณ์
                ๒. ความงามและความมีเสน่ห์ เนื่องจากเพราะก่อนที่ท่านจะอธิษฐานจิตให้รูปร่างเปลี่ยนแปลง พระสังกัจจายน์มีผิวดั่งทองคำและมีรูปงามละม้ายเหมือนพระพุทธเจ้า จนแม้แต่เทพยดา พรหม และมนุษย์ทั้งปวงพากันรักใคร่ชื่นชม
                ๓. สติปัญญา พระสังกัจจายน์ได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศในทางอธิบายธรรม ท่านจึงเป็นพระอรหันต์ผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม

เคล็ดลับการบูชาพระสังกัจจายน์ให้เป็นสิริมงคล

บูชาด้วยธูป ๓ ดอก พร้อมดอกไม้สีขาวมีกลิ่นหอมหรือดอกบัว ๗ ดอก ถวายน้ำสะอาด ๑ แก้ว และถวายผลไม้ทุกวันพระ

คาถาบูชาพระสังกัจจายน์
                กัจจายนะ จะ มหาเถโร พุทโธ พุทธานัง พุทธะตัง พุทธัญ จะ พุทธะสุภาสิตัง พุทธะตัง สะมะนุปปัตโต พุทธะ โชตัง นะมามิหัง ปิโยเทวะ มะนุสสานัง ปิโยพรหม นะมุตตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะมามิหัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโส ชะนา อิถีชะนา ราชาภาคินิ จิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยังมามะฯ

คาถาบูชาพระสังกัจจายน์ (แบบที่ ๒)
                (ตั้งนะโม ๓ จบ)
            ธัมมะจักกัง ปะทังสุตะวา พุชฌิตวา อัตตังปะหัง สันติเก อะระหาโลเก โลกานังหิตะการะณา ภันเต กัจจายะนะ นามะ ตีสุ โลเกสุ ปากะโต พรหมะปุตโต มะหาเถโร อะระโห เชฏฐโกมุนิ นัตถิเถโร สะโมอินทันธัพพา อะสุราเทวะ สักโก พรหมาภิปูชิโต นะโมพุทธัสสะ กัจจายะนะมหาเถรัสสะ นะโมธัมมัสสะ กัจจายะนะ นะมะมะหาเถรัสสะ นะโมสังฆัสสะ กัจจายะนะมะหาเถรัสสะ สุขา สุขะวะรังธัมมัง ธัมมะจักกัง ปะวะรัง นิฏฐิตังฯ

คาถาบูชาขอลาภ (สวดทุกวันเพื่อความเป็นสิริมงคล)
                กัจจายะนะ มะหาเถโร เทวะตานะระ ปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง ภะวันตุ เม ลาเภนะ อุตะโมโหติ โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง สัพพะลาภา สะทาโสตถิ ภะวันตุ เม ฯ

คาถาถวายอาหารแด่พระสังกัจจายน์
                อิมัง สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกังวะรัง กัจจายนะ มะหาเถรัสสะ ปูเชมิ ฯ

คาถาบูชาพระสังกัจจายน์

                กัจจายนะ จะ มหาเถโร พุทโธ พุทธานัง พุทธะตัง พุทธัญ จะ พุทธะสุภาสิตัง พุทธะตัง สะมะนุปปัตโต พุทธะ โชตัง นะมามิหัง ปิโยเทวะ มะนุสสานัง ปิโยพรหม นะมุตตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะมามิหัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโส ชะนา อิถีชะนา ราชาภาคินิ จิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยังมามะฯ

คาถาบูชาพระสังกัจจายน์ (แบบที่ ๒)
                (ตั้งนะโม ๓ จบ)
            ธัมมะจักกัง ปะทังสุตะวา พุชฌิตวา อัตตังปะหัง สันติเก อะระหาโลเก โลกานังหิตะการะณา ภันเต กัจจายะนะ นามะ ตีสุ โลเกสุ ปากะโต พรหมะปุตโต มะหาเถโร อะระโห เชฏฐโกมุนิ นัตถิเถโร สะโมอินทันธัพพา อะสุราเทวะ สักโก พรหมาภิปูชิโต นะโมพุทธัสสะ กัจจายะนะมหาเถรัสสะ นะโมธัมมัสสะ กัจจายะนะ นะมะมะหาเถรัสสะ นะโมสังฆัสสะ กัจจายะนะมะหาเถรัสสะ สุขา สุขะวะรังธัมมัง ธัมมะจักกัง ปะวะรัง นิฏฐิตังฯ

คาถาบูชาขอลาภ (สวดทุกวันเพื่อความเป็นสิริมงคล)
                กัจจายะนะ มะหาเถโร เทวะตานะระ ปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง ภะวันตุ เม ลาเภนะ อุตะโมโหติ โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง สัพพะลาภา สะทาโสตถิ ภะวันตุ เม ฯ

คาถาถวายอาหารแด่พระสังกัจจายน์
                อิมัง สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกังวะรัง กัจจายนะ มะหาเถรัสสะ ปูเชมิ ฯ